ช่วงเช้าเวลา 07.00 น. นพ.ชาลี วชิรศรีสุนทรา (ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์) คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ นำคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ เข้าร่วมพิธีทำบุญพร้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรม คณะพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป และกรวดน้ำรับพร จากนั้นเวลา 08.30 น. นพ.พิชญา นาควัชระ (รองปลัดกรุงเทพมหานคร) ประธานในพิธีเปิด “งานครบรอบ 44 ปี แห่งการสถาปนาสำนักการแพทย์” โดยมี อดีตผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์และโรงพยาบาลในสังกัดฯ และบุคลากรในสังกัดฯ เข้าร่วมงาน ในงานได้รับเกียรติจาก นพ.พิชญา นาควัชระ (รองปลัดกรุงเทพมหานคร) มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ หน่วยงาน ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดฯ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับสำนักการแพทย์ และจากนั้นเป็นการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการจาก 11 ส่วนราชการ โดยผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และรองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์
ประวัติสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
งานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร ได้มีการริเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นกรุงเทพมหานครมีประชากรเพียงสามแสนกว่าคนเศษบ้านเมืองมีสภาพเป็นชุมชนหนาแน่น ทำให้เกิดโรงระบาดต่างๆมากมาย เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ และกามโรค
รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อรับผู้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษา ในปี พ.ศ.2516 กรุงเทพมหานครได้มีการขยายพื้นที่ความรับผิดชอบมากขึ้น จึงได้มีประการจัดตั้งส่วนราชการใหม่ขึ้นคือ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2517 เพื่อดูแลงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประชาชนในกรุงเทพมหานคร
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ให้บริการตรวจรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดการศึกษา ฝึกอบรมและพัฒนาทางวิชาการแพทย์และการพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 10 แห่ง ประกอบด้วย
โรงพยาบาลกลาง
โรงพยาบาลตากสิน
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโรอุทิศ
โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร
โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
โรงพยาบาลคลองสามวา
นอกเหนือภารกิจทางด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสนับสนุนสองหน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ และสำนักงานเลขานุการ โดยสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในภาพรวมเกี่ยวกับการวางแผน จัดทำแผนโครงการและงบประมาณของสำนักการแพทย์ กำกับติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาสาธารณสุข ทำการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร สร้างระบบเครือข่ายสาธารณสุข กำหนดนโยบายและบริหารจัดการเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการสรรหาและพัฒนาบุคคลทั้งในและนอกสังกัดสำนักการแพทย์ ให้บริการทางวิชาการ ตรวจสอบ วิเคราะห์ พิจารณาโครงการและผลงานทางวิชาการ ค้นคว้าเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และผลติสื่อเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข |